วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2553

ทฤษฎีการให้การปรึกษาเชิงบำบัดแนวเกสตัลท์ ( Gestalt Therapy )

ทฤษฎีการให้การปรึกษาเชิงบำบัดแนวเกสตัลท์ ( Gestalt Therapy )


เป็นการบำบัดทางประสบการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เน้นที่การมีสติหรือการตระหนักรู้ ถึงความรู้สึกของตนเองที่เกิดขึ้นในขณะนั้น และการทำงานของกายกับใจที่ควบคู่กันไป กล่าวคือเป็นการทำงานของความคิด ความรู้สึก และการรับรู้ ที่รวมกันเป็นกระแสธาร ลักษณะของจิตบำบัดแนวเกสตัลท์จึงเป็นแบบ Holistic Approach ซึ่ง Perls เชื่อว่าจะทำให้เกิดบูรณาการได้มากกว่าที่จะแยกออกมาวิเคราะห์เป็นบางส่วน ความเชื่อของการบำบัดแนวเกสตัลท์ พอสรุปได้ดังนี้

1. มนุษย์มีลักษณะเป็นหน่วยที่มีความสมบูรณ์อยู่ในตนเอง ร่างกาย อารมณ์ ความคิด ประสาทสัมผัสและการรับรู้ มีการทำงานที่สัมพันธ์กัน มนุษย์จึงมีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การเข้าใจมนุษย์นั้นจะเข้าใจเฉพาะในแต่ละส่วนไม่ได้ จำเป็นต้องเข้าใจลักษณะของหน่วยเต็มทั้งหน่วย คือบุคคล

2. มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม การที่จะเข้าใจมนุษย์ให้ลึกซึ้งจำเป็นต้องเข้าใจทั้งบุคคล และสภาพแวดล้อมของเขา

3. มนุษย์เป็นผู้เลือกที่จะแสดงพฤติกรรมของตนเองในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก และภายใน

4. มนุษย์มีความสามารถที่จะรับรู้หรือสัมผัสถึงความคิด อารมณ์ และการรับรู้ของตนเอง

5. มนุษย์มีประสิทธิภาพในการรับรู้ถึงตนเอง มีสติ (Self Awareness) จึงทำให้มนุษย์มีความสามารถในการตัดสินใจเลือก พร้อมทั้งมีความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของเขา

6. มนุษย์มี่ความสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

7. มนุษย์ไม่สามารถนำตนเองไปเผชิญกับอดีตหรืออนาคตได้ เขาสามารถเผชิญเหตุการณ์ด้วยตนเองได้กับปัจจุบันเท่านั้น นั้นคือ คนเราสามารถรับรู้ถึงประสบการณ์ส่วนตนจากปัจจุบันเท่านั้น อดีตหรืออนาคตสามารถรับรู้ได้จากปัจจุบัน โดยการจำหรือการคิดคาดหวัง

8. โดยพื้นฐานของธรรมชาติแล้ว มนุษย์เราไม่ดีหรือไม่เลวโดยกำเนิด

แนวคิดกับสภาวะปัจจุบัน (The Now)

สำหรับ Perls แล้ว การมีชีวิตอยู่ก็คือ “ปัจจุบัน” อดีตนั้นเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว และอนาคตก็ยังเป็นเรื่องที่มาไม่ถึง มีแต่ปัจจุบันเท่านั้นที่มีความหมายสำคัญ สิ่งที่ Perls เน้นมากที่สุดก็คือ ที่นี่และและเดี๋ยวนี้ (Here and Now) Perls เชื่อว่าพลังของคนเรามีอยู่กับปัจจุบัน การจะดำรงชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ก็จะต้องอยู่อย่างมีคุณภาพ และตรงตามสภาพความเป็นจริงของชีวิต บุคคลที่ไม่สามารถรับรู้ถึงสภาวะปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็เนื่องจากการสูญเสียพลังงานที่ใช้ไปกับการครุ่นคิดคำนึงถึงสิ่งที่ผ่านมาในอดีต และมุ่งมั่นจะวางแผนในอนาคตอย่างไม่รู้จบ บุคคลนั้นก็จะเกิดความวิตกกังวลขึ้นมา

สำหรับสภาพของผู้มีทุกข์ Perls เชื่อว่ามักจะเป็นบุคคลที่ขาดการตระหนักรู้ กล่าวคือไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรที่จะสามารถดำรงชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพกล่าวคือมีชีวิตอยู่เพียงแค่ให้หมดสิ้นไปวันหนึ่งเท่านั้น รู้สึกช่วยเหลือตนเองไม่ได้ สิ้นหวังในชีวิต ไม่รู้จะจัดการกับตนเองอย่างไร ขาดความรับผิดชอบต่อตนเอง เป็นบุคคลที่มีธุรกิจคั่งค้างอยู่ในตัวอย่างมาก และหาทางออกโดยการหนีจากสภาวะปัจจุบันไปอยู่กับอดีตและอนาคต

จุดมุ่งหมายของการให้การปรึกษาแบบเกสตัลท์

1. ให้ผู้รับการปรึกษาเปลี่ยนพฤติกรรมจากการพึ่งพาผู้อื่น มาสู่การพึ่งพาตนเอง รับผิดชอบต่อตนเองพัฒนาไปสู่การมีวุฒิภาวะ

2. ให้ผู้รับการปรึกษามีประสบการณ์เกี่ยวกับการเรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง สามารถใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่

3. ช่วยให้ผู้รับการปรึกษาได้ใช้พลังงานของชีวิตอยู่กับปัจจุบัน รู้จักปล่อยวางอดีต โดยการทำความรู้สึกที่คั่งค้างให้สมบูรณ์ และไม่วิตกเกี่ยวกับอนาคต

4. ช่วยให้ผู้รับการปรึกษากล้าเป็นตัวของตัวเองที่แตกต่างไปจากบุคคลอื่น เข้าใจในค่านิยมและกฏเกณฑ์ของสังคม

เทคนิคและวิธีการที่ให้การปรึกษา

การให้การปรึกษาแบบเกสตัลท์มีเทคนิค และวิธีการมากมายที่จะช่วยผู้รับการปรึกษาเกิดการรับรู้เกี่ยวกับตนเอง พึ่งพาตนเอง รับผิดชอบต่อการกระทำและความรู้สึกของตนเอง โดยผู้ให้การปรึกษาเลือกใช้เทคนิคต่างๆ ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ อย่างไรก็ตามผู้ให้การปรึกษาต้องตระหนักว่าเทคนิคต่างๆจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุเป้าหมายของการให้การปรึกษาได้นั้น จะต้องอิงอยู่กับสัมพันธภาพที่ดีของการให้การปรึกษา เทคนิคที่สำคัญได้แก่

1. การฝึกใช้ภาษา เพื่อช่วยเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับความรู้สึกและการกระทำของตนเอง โดยผู้ให้การปรึกษาใช้เทคนิคดังนี้

1.1 ให้ผู้รับการปรึกษาใช้สรรพนามแทนตนเองตรงๆ ( Personalizing Pronouns) ช่วยให้ผู้รับการปรึกษารับรู้ตนเอง คิด พูด และมีความต้องการอย่างไร และรับผิดชอบต่อการพูด ความรู้สึกและการกระทำของตนเอง เพราะบุคคลมักจะปิดบังความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง จึงมักจะเอ่ยลอยๆ เช่น “ ใครๆก็คงรู้สึกไม่อยากต่อสู้กับปัญหาแบบนี้ “ การที่ไม่รู้สึกอยากต่อสู้ ไม่ใช่สิ่งที่เสียหาย แต่การเอ่ยแบบนี้เป็นการเลี่ยงที่จะรับรู้ว่าตนเองรู้สึกอย่างนั้น

ตัวอย่าง

ผู้รับการปรึกษา : ใครๆก็คงรู้สึกไม่อยากต่อสู้กับปัญหาแบบนี้

ผู้ให้การปรึกษา : ใครๆในที่นี้คุณคงหมายถึงตัวคุณ ให้ลองพูดประโยคนี้ใหม่ว่า “ ฉันรู้สึก ไม่อยากต่อสู้กับปัญหานี้ “

( เมื่อผู้รับการปรึกษาพูดแล้ว ให้สังเกตลักษณะน้ำเสียง ท่าทางที่พูด แล้วถามถึงความรู้สึก ว่ารู้สึกอย่างไร )


1.2 เปลี่ยนคำถามให้เป็นประโยค (Changing question to statement) ผู้ให้การปรึกษาแบบเกสตัลท์จะไม่พยายามตอบคำถามที่ผู้รับการปรึกษาถาม เพื่อเลี่ยงที่จะกล่าวถึงความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง แต่จะกระตุ้นให้ผู้รับการปรึกษารับรู้ถึงความรู้สึกนั้น และให้พูดออกมาในลักษณะของประโยคบอกเล่า

ตัวอย่าง

ผู้รับการปรึกษา : ทำไมเราต้องยอมทำตามคนอื่นด้วย

ผู้ให้การปรึกษา : คุณต้องการพูดว่าอะไรกันแน่จากคำถามนั้น

ผู้รับการปรึกษา : ผมอยากบอกว่า ผมอยากทำอะไรตามใจผมบ้าง


1.3 เน้นความรับผิดชอบ (Responsibility) โดยทั่วไปบุคคลมักเลี่ยงความรับผิดชอบ โดยการบอกว่าตนเองทำไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงมักจะ “ ไม่ทำ “ หรือ “ ไม่อยากทำ “

ตัวอย่าง

ผู้รับการปรึกษา : ผมควบคุมอาหารต่อไปไม่ได้อีกแล้ว

ผู้ให้การปรึกษา : คุณควบคุมอาหารไม่ได้หรือคุณไม่อยากควบคุม

ผู้รับการปรึกษา : ผมไม่อยากควบคุม

ผู้ให้การปรึกษา : คุณควบคุมได้ แต่คุณไม่อยากทำ คุณก็พร้อมที่จะรับผิดชอบต่อการตัด

สินใจของคุณ หากน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น


2. ฝึกผู้รับการปรึกษาให้รับรู้ถึงความรู้สึกต่างๆที่ตนเองมี ทั้งความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงโดยไม่พยายามปฏิเสธในส่วนที่เป็นตนตามอุดมคติ ที่เรียกร้องให้ทำตามค่านิยมของสังคม มีเทคนิคดังนี้

2.1 การพูดโต้ตอบด้วยตนเอง ( Game of Dialogue) ในขณะที่ผู้ให้การปรึกษาต้องสังเกตภาษาท่าทาง โดยให้ผู้รับการปรึกษาถ่ายทอดความรู้สึกที่ไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงไปที่มือข้างขวา แล้วถ่ายทอดความรู้สึกที่แท้จริงไปที่มือข้างซ้าย แล้วพูดโต้ตอบกันถึงความรู้สึก 2 ด้านนี้ เทคนิคนี้ช่วยให้เกิดความกระจ่างถึงความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้ง ความวิตกกังวลก็จะลดลง สามารถเลือกตัดสินใจได้และรับผิดชอบต่อการเลือกของตนเอง โดยไม่รู้สึกว่าถูกบงการจากผู้อื่น

2.2 เทคนิคเก้าอี้ว่างเปล่า ( The empty chair technique) เป็นเทคนิคที่ช่วยให้ผู้รับการปรึกษารับรู้ถึงความรู้สึกขัดแย้งภายในตัวเองให้กระจ่างขึ้น มีวิธีโดยใช้เก้าอี้สองตัว ตั้งประจันหน้ากันไว้ แล้วให้ผู้รับบริการปรึกษาแสดงบทบาทและคำพูด ในส่วนที่เป็นความต้องการที่แท้จริง เมื่อนั่งอยู่บนเก้าอี้ตัวหนึ่ง พูดไปกับเก้าอี้ตัวที่ว่างที่เป็นส่วนของความรู้สึกตามอุดมคติ ที่บอกตนเองว่าควรทำอะไร แล้วย้ายไปนั่งเก้าอี้ตรงข้ามที่ว่าง แล้วแสดงบทบาทเป็นส่วนของความรู้สึกตามอุดมคติที่ขัดแย้งอยู่แล้วโต้ตอบกลับไป เทคนิคนี้จะช่วยให้ผู้รับการปรึกษาเข้าใจความรู้สึกทั้งสองที่ตนมีได้กระจ่างมากขึ้น


3. ฝึกให้ผู้รับการปรึกษาใช้จินตนาการ ( Fantasy game) เป็นการย้ายความรู้สึกและความต้องการของตนเองไปยังสิ่งอื่น แล้วจินตนาการว่าถ้าเป็นตนเองจะมีความรู้สึกและต้องการอย่างไร

1. เกมการซ้อมบท ( Role Playing) เป็นการแสดงบทบาทเมื่อผู้รับการปรึกษาได้เผชิญเหตุการณ์ด้วยตนเอง โดยให้แสดงบทบาทที่ตนคิดเอาไว้ออกมาจริงๆ


4. การแสดงบทบาทที่กล่าวโทษผู้อื่น ( Playing the projection) เป็นการช่วยให้ผู้รับการปรึกษาได้ตระหนักถึงความรู้สึกที่ไม่ดีภายในตนเอง ที่ตนเองไม่กล้ายอมรับ และมักจะคอยจับผิดและกล่าวโทษผู้อื่น ให้เกิดความพยายามปรับปรุงแก้ไขตนเอง โดยไม่กล่าวโทษผู้อื่น

5. ฝึกให้ผู้รับการปรึกษาเพ่งอยู่กับความรู้สึกตนเอง ( Staying with the feeling) เป็นการให้ผู้รับการปรึกษาได้รับรู้ความรู้สึกของตนเองในสภาวะปัจจุบันให้ได้ และให้กล้าเผชิญกับความจริงโดยไม่เลี่ยงความรู้สึกที่ไม่อยากสัมผัส ซึ่งมักจะเป็นความรู้สึกที่คั่งค้างต่อประสบการณ์ต่างๆในอดีต ที่มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกและพฤติกรรมปัจจุบัน


กล่าวโดยสรุปเกสตัลท์จะไม่ใช่การวิเคราะห์ การวินิจฉัย และการทดสอบ ดังนั้นการตั้งคำถามจึงเป็นคำถามประเภท อะไร และ อย่างไร จะไม่ใช้คำถาม ทำไม ส่วนการตีความนั้นถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้รับการปรึกษา

ทฤษฎียึดบุคคลเป็นศูนย์กลางการบำบัดรักษา(กลุ่มที่1)

ทฤษฎียึดบุคคลเป็นศูนย์กลางการบำบัดรักษา
ทฤษฎียึดบุคคลเป็นศูนย์กลางการบำบัดรักษาของคาร์ล อาร์ โรเจอร์
ในระหว่างปี ค.ศ. 1940 –1945 โรเจอร์ส ได้รับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยา และสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอ (Ohio State University)และในระหว่างปี ค.ศ.1945 – 1957 ได้ย้ายไปสอน ณ มหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) และในช่วงเวลาดังกล่าวโรเจอร์ได้ผลิตผลงานต่างๆ อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีการให้คำปรึกษาเน้นบุคคลเป็นศูนย์กลาง
แนวคิด
แนวคิดที่สำคัญโรเจอร์สเชื่อว่า มนุษย์มีธรรมชาติที่ดีมีแรงจูงใจในด้านบวก เป็นผู้ที่มีเหตุผล (Rational) เป็นผู้ที่สามารถได้รับการขัดเกลา (Socialized) สามารถตัดสินใจเลือกวิถีชีวิตของตนเองได้ ถ้ามีอิสระเพียงพอ และมีบรรยากาศที่เอื้ออำนวย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ (Full Potential) และพัฒนาไปสู่ทิศทางที่เหมาะสมกับ ความสามารถของแต่ละบุคคล อันจะนำไปสู่การตระหนักรู้ในตนเองอย่างแท้จริง (Self-Actualization)
การให้คำปรึกษา
คาร์ล อาร์. โรเจอร์ (Carl R. Rogers) เห็นว่า ความสัมพันธ์เป็นหัวใจสำคัญที่เอื้อให้เกิดบรรยากาศที่ดีในกรเปิดเผยและสำรวจตนเอง และมีปัญหาที่เกิดขึ้นจะได้ไม่อำพรางในขั้นนี้ นอกจากเรื่องของการสร้างสัมพันธภาพแล้ว ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้รวบรวมถึง การให้ความเข้าใจกระบวนการปรึกษาแก่ผู้รับการปรึกษาด้วย โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่สำคัญ ที่ทำให้ผู้ขอรับการปรึกษเข้าใจหลักเกณฑ์กระบวนการให้คำปรึกษาที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพผู้มารับการปรึกษาจะได้เกิดความพร้อมในการที่จะเรียนรู้ สำรวจปัญหาและแก้ปัญหา มีส่วนร่วมที่สำคัญที่จะบรรลุเป้าประสงค์ของการให้คำปรึกษา หากผู้รับคำปรึกษาไม่เข้าใจให้ถูกต้อง อาจจะคาดหวังผิด ๆ ทำให้ไม่มีบทบาทต่อการแก้ปัญหาของตนเอง เพราะอาจจะคาดหวังให้ผู้ให้คำปรึกษาเป็นผู้ชี้นำ หรือ ให้คำตอบต่าง ๆ กับตน ซึ่งไม่ใช่หลักการในการในการให้คำปรึกษาที่ดี
ขั้นตอนของการให้คำปรึกษา
1. มีความรู้ในการเลือกวิธีการ หรือ ทฤษฎีได้เหมาะสม
2. ความสามารถในการใช้วิธีการเฉพาะต่าง ๆ ของแต่ละทฤษฎี
3. มีความรู้ถึงปัญหาที่จะพบจากการใช้แนวทางของทฤษฎีแต่ละทฤษฎี
ในกระบวนการให้คำปรึกษา เมื่อดำเนินมาถึงขั้นที่มีการกำหนดกิจกรรมบางอย่างเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ หากการให้คำปรึกษาดำเนินไปด้วยดี ผู้มารับคำปรึกษาก็จะสามารถปฏิบัติได้ตามที่ได้วางแผนเอาไว้
ข้อควรคำนึง
ผู้ให้คำปรึกษาถือว่า ผู้มาปรึกษาแต่ละคนย่อมมีศักดิ์ศรีของตน หรือ ผู้มาปรึกษาแต่ละคนย่อมจะต้องรับผิดชอบในการตัดสินใจ หรือการแก้ปัญหา ตัวผู้ให้คำปรึกษาเองจะต้องพิจารณาผู้มาปรึกษาทั้งคน ดังนั้น ผู้ให้คำปรึกษาจะไม่เข้าไปยุ่งจัดการกับวิถีชีวิตของผู้มารับคำปรึกษา เป็นเพียงแต่คอยช่วยเหลือให้เขาเกิดความเข้าใจในตนเอง ยอมรับความเป็นตัวของตัวเองและแก้ปัญหาของตนเอง