ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์
ความเป็นมาของทฤษฎีให้บริการปรึกษาแบบจิตวิเคราะห์
ซิกมัน ฟรอย (Sigmund Freud 1856 – 1933) เป็นผู้ก่อตั้งจิตบำบัดแบบวิเคราะห์ (Psychoanalytic theory) ฟรอยเกิดในปี ค.ศ. 1856 เป็นลูกคนแรกของครอบครัวชาวเวียนนา ที่มีลูกชาย 3 คน และลูกสาว 5 คน บิดาของเขาเป็นคนที่เคร่งครัดมาก ครอบครัวของฟรอยค่อนข้างขัดสน อาศัยอยู่ในอาคารชุดที่แออัด แต่ถึงกระนั้นก็ตามพ่อแม่ก็ส่งเสียเขาได้เรียนจบแพทย์ เขาจบแพทย์ศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเวียนนา เมื่ออายุได้ 26 ปี และได้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้
ฟรอย ได้ใช้ชีวิตของเขาในการพัฒนาทฤษฎีจิตวิเคราะห์ เขาเป็นคนแรกที่กล่างถึงจิตไร้สำนึกว่ามีบทบาทในการกำหนดพฤติกรรมมนุษย์ เขาด้คิดเทคนิคใหม่ๆเพื่อทำความเข้าใจในพฤติกรรมมนุษย์ เข้าใจบุคลิกภาพและพัฒนาวิธีการทางจิตบำบัดในบั้นปลายชีวิต ฟรอยป่วยเป็นโรคมะเร็งที่กรามและสิ้นชีวิตที่อังกฤษในปี ค.ศ. 1939.แนวคิดของฟรอย และวิธีการของเขาได้รับความยินยอมอย่างแพร่หลายและต่อมาได้มีนักจิตวิทยาบางท่านได้ปรับปรุงแนวคิดและวิธีการของฟรอยบางประการเสียใหม่ ซึ่งคือนักจิตวิทยากลุ่มฟรอยยุคใหม่ (Neo- Frudians) เป็นต้นว่าบุคคลต่อไปนี้
อัลเฟรด แอดเลอร์ ( Alfred Adler)
แอดเลอร์ ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของฟรอยที่ว่าเรื่องเพศเป็นปัญหาการปรับตัวของบุคคลเขามีแนวคิดว่าการที่บุคคลรู้สึกว่าตนมีปมด้อย (Feeting of inferiority) จึงด้ใช้ความพยายามในชีวิตให้เด่นขึ้น แต่วิธีไปสู่ความเด่นของแต่ละคนต่างกันจึงทำให้บุคลิกภาพต่างกัน เช่น บางคนใช้ความมานะพยายามไปสู่ความสำเร็จ แต่บางคนเมื่อเกิดความรู้สึกด้อยจะมีกลวิธีป้องกันจิตของตนเองต่างๆ เพื่อลบล้างความรู้สึกด้อย เช่น ฝันกลางวัน โทษผู้อื่น หนีความจริง อ้างเหตุผลเข้าข้างตัวเอง นอกจากนั้นแอดเลอร์เน้นกระบวนการแสวงหาความจริง (Ego) มากกว่ากระบวนการแสวงหาความสุขต่างๆของชีวิต แอดเลอร์เน้นการให้กำลังใจบุคคลให้เกิดความพยายามที่จะสู้ชีวิต ไม่ใช่รู้สึกเป็นศัตรูกับสังคม
นอกจากนั้นแอดเลอร์ เป็นคนแรกที่เน้นเรื่องลำดับที่การเกิด ( Birth order) คือการเป็นลูกคนใดในครอบครัวนั้นมีอิทธิพลสำคัญในการกำหนดบุคลิกภาพ เช่น ลูกคนโตจะมีความรับผิดชอบสูง เพราะบทบาทของความเป็นพี่ ส่วนลูกคนรองจะเป็นคนมีนิสัยชอบแข่งขันกับผู้อื่น เพราะชีวิตต้องแข่งขันกับพี่น้อง และมักมองคนในแง่ร้าย เนื่องจากประสบการณ์ที่ตนต้องเป็นรองพี่และต้องยอมน้อง ส่วนลูกคนสุดท้องมักจะไม่เป็นตัวของตัวเองและไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตน เนื่องจากประสบการวัยเด็กที่ถูกตามใจและมีคนทำสิ่งต่างๆตลอดจนตัดสินใจให้แต่ปัจจุบันมีงานวิจัยเป็นจำนวนมากทั้งของไทยและต่างประเทศที่พบว่าลำดับที่ในการเกิดไม่มีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพเท่ากับการอบรมเลี้ยงดูและท่าทีของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็ก เช่น พ่อแม่เลี้ยงลูกเหมือนกันทั้งสามคน บุคลิกภาพของเด็กอาจไม่ต่างกันมากนัก
ฮอร์นีย์ มีความเห็นตรงกับฟรอยที่ว่าวัยเด็กเป็นวัยที่สำคัญของชีวิตครอบครัวมีอิทธิพลต่อชีวิตของเด็ก แต่ฮอร์นีย์เชื่อว่าโรงเรียนก็มีอิทธิพลต่อเด็กเช่นกัน บางคนเครียดและมีความรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจมาตั้งแต่วัยเด็ก
ฮอร์นีย์ มีความเห็นว่า คนแสวงหาความมั่นคงทางจิตใจ ( Need for security) ความวิตกกังวลเกิดจากการที่บุคลิกขาดความมั่นคงทางจิตใจ โดยที่เขาได้ประสบการณ์จากความสัมพันธ์อันไม่คงระหว่างเขากับครอบครัวหรือบุคคลแวดล้อมซึ่งทำให้เกิดความคิดว่าบุคคลในโลกเป็นศัตรูต่อเขาและคุกคามเขา นอกจากนั้นฮอร์นีย์ได้กล่าวไว้ว่าคนเราย่อมสร้าง “ตนในอุดมคติ” ( Ideal Seif) ไว้ซึ่งเมื่อ “ตนตามความเป็นจริง” ( real self) ไม่ตรงต่อ “ตนในอุดมคติ” คนจะเกิดความเครียด ซึ่งจะหันไปใช้กลวิธีป้องกันจิตใจตนเอง เพื่อขจัดความขัดแย้งนั้นออกไป
ดังนั้นผู้ให้บริการปรึกษาพึงช่วยเหลือผู้รับบริการ โดยพยายามให้ความเข้าใจและความอบอุ่นแก่ผู้รับบริการเพื่อให้เขาเกิดความมั่นคงด้านจิตใจ และช่วยให้เขาลบความขัดแย้งในจิตใจออกไป
แฮรี่ สแตค ซัลวิแวน ( Harry Stack Sullivan)
ซัลวิแวน เชื่อว่าสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ( Interpersonal relation) มีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพ บุคคลจะพัฒนาความรู้สึกนึกคิดต่อตนเอง จาการที่ได้สังเกตปฏิกิริยาของบุคคลที่มีความสัมพันธภาพกับเขา ปัญหาเกิดจากการที่บุคคลพิจารณาตนเองผิดพลาดจากข้อเท็จจริงและขาดความอบอุ่นด้านจิตใจ
อีริค อีริคสัน ( Erick Erikson)
อีริคสัน ได้อธิบายขั้นพัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย โดยเน้นว่าประสบการณ์แต่ละวัยมีส่วนสำคัญต่อบุคลิกภาพ และพัฒนาการแต่ละวัยส่งผลกระทบถึงกัน จากความรู้เรื่องนี้นำไปสู่ความเข้าใจสาเหตุพฤติกรรมของบุคคลได้ละเอียดลออในทุกขั้นตอนของชีวิต
สรุปได้ว่ากลุ่มฟรอยยุคใหม่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อมเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดบุคลิกภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านการคิด การรับรู้ ตลอดจนการตอบสนอง
ผู้ให้บริการปรึกษาแบบจิตวิเคราะห์พิจารณามนุษย์และมีหลักการดังนี้คือ
1. ลักษณะบางอย่างของมนุษย์ได้รับการกำหนดทางชีวภาพ ซึ่งถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ เช่น ขอบข่ายสติปัญญา ลักษณะทางร่างกาย
2. บุคลิกภาพของมนุษย์ได้รับการวางรากฐานมาตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งช่วงที่บุคคลได้รับประสบการณ์ต่างๆเข้ามามากมายแล้วก่อตัวเป็นบุคลิกภาพ เช่น วิธีที่บุคคลโต้ตอบสิ่งแวดล้อม เป็นคนก้าวร้าว ขี้ขลาด หรือกล้า มีความมั่นคงทางด้านจิตใจหรือไม่ขึ้นกับประสบการณ์ในวัยเด็กเป็นสำคัญ
3. จิตใจมนุษย์เหมือนก้อนน้ำแข็ง ส่วนที่โผล่ขึ้นเหนือระดับน้ำคือส่วนของจิตสำนึก ส่วนที่อยู่ใต้น้ำคือส่วนของจิตไร้สำนึก ซึ่งทั้งสองส่วนมีอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำของบุคคล ดังนั้นพฤติกรรมหรือการกระทำของมนุษย์ไม่เพียงแต่จะกระทำโดยรู้ตัวเนื่องจากแรงจูงใจในระดับจิตใต้สำนึก ( Conscious motive) เท่านั้น เช่น เราเรียนหนังสือเรารู้ตัวว่าเกิดจากแรงจูงใจที่อยากจะประสบความสำเร็จในชีวิต แต่มีพฤติกรรมหรือการกระทำบางอย่างของเราที่เป็นไปโดยไม่รู้สึกตัว โดยเกิดจากแรงจูงใจในระดับจิตไร้สำนึก (Unconcious motive) เช่น เด็กบางคนขโมย อาจไม่ใช่อยากได้ของนั้น แต่อาจเกิดจากความต้องการความสนใจจากพ่อแม่ คือเมื่อสืบสวนพบว่าเขาเป็นผู้ขโมย พ่อแม่ก็หันมาสนใจเขาซึ่งเขาเองก็ไม่รู้ตัวหรือไม่ตระหนักว่าการขโมยของเขานั้นเนื่องมาจากแรงผลักดันด้านความต้องการความสนใจผู้ให้บริการปรึกษาจะต้องตระหนักว่าพฤติกรรมของบุคคลเกิดจากแรงจูงใจในระดับจิสำนึกและจิตใต้สำนึก
4. บุคลิกภาพประกอบด้วยการทำงานของระบบ Id ระบบ Ego และระบบ Superego
ระบบ Id ( Pleasure Principle) เป็นระบบที่มนุษย์แสวงหาความพอใจ เช่น ต้องการอาหาร ต้องการทรัพย์สิน ต้องการเกียรติ เมื่อเกิดความต้องการแต่ยังสนองความต้องการนั้นไม่ได้ มนุษย์จะพยายามลดความเครียดโดยใช้จิตนาการ เช่น ความหิวจะจินตนาการถึงอาหาร เป็นการพยายามสนองความปรารถนา ( Wish fulfillment ) ซึ่งฟรอยรียกว่าเป็นการพยายามสนองความปรารถนาอย่างไร้เหตุผล โดยไม่ได้นึกถึงสภาพความเป็นจริง
ระบบ Ego (Reality Principle ) เป็นระบบแห่งความเป็นจริง เป็นระบบที่ติดต่อกับโลกภายนอก เป็นระบบที่หาวิธีสนอกความต้องการที่เป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติ เมื่อการใช้จินตนาการไม่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่เป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติในสภาพเป็นจริง ระบบ Ego ก็จะแสดงบทบาทซึ่งเป็นเรื่องของการคิดอย่างมีเหตุผล เท่ากับเป็นระบบ “บริหาร” ของบุคลิกภาพ เพราะเป็นระบบที่ตัดสินว่าควรกระทำอย่างไรเพื่อให้สนองความต้องการ
ระบบ Superego ( Conscience Principle) เป็นระบบมโนธรรม ซึ่งมนุษย์ได้รับการขัดเกลาจากสังคมให้รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว เป็นตัวประเมินว่าการกระทำใดถูกหรือผิด ให้ทำในสิ่งที่ดี และหักห้ามใจไม่ให้ทำชั่ว
จากการทำงานของระบบทั้งสามนี้จะก่อให้เกิดบุคลิกภาพของบุคคล เช่น ถ้าบุคคลใดมีมโนธรรมสูง
ระบบ Superego จะเป็นตัวหลักควบคุมการแสดงออกของบุคคลนั้น เขาจะระงับการกระทำที่สังคมไม่ยอมรับ เช่น แม้จะมีช่องทางทุจริตเพื่อตอบสนองความต้องการด้านทรัพย์สินแต่บุคคลนั้นยังมุ่งมั่นทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นบุคลิกภาพที่เด่นชัดของเขา
ดังนั้นถ้าสามระบบทำงานประสานกันด้วยดีและมีความคงที่ ส่งผลให้บุคคลปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมของเขา บุคคลนั้นจะเป็นคนที่มีสุขภาพดี แต่ในทางตรงข้ามถ้าทั้งสามระบบเกิดความขัดแย้งกันจะทำให้บุคคลเกิดปัญญา เช่น บุคคลที่มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างความต้องการกับมโนธรรมแล้วใช้วิธีเก็บกดความต้องการ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปรับตัวไม่ได้ขึ้น
5. ความวิตกกังวลเป็นต้นเหตุของการแก้ปัญหาอย่างไร้ประสิทธิภาพฟรอยได้แบ่งความวิตกกังวลเป็น 3 ประเภท ดังต่อไปนี้
ก. ความวิตกกังวลจากสิ่งแวดล้อม ( real or objective anxiety) สาเหตุของความกังวลมาจากสิ่งนอกตัว เช่น ตกงาน สูญเสียผู้ที่ตนรัก คาดหวังสิ่งใดแล้วกังวลว่าจะไม่ได้ตามที่คาด
ข. ความวิตกจริต ( neurotic anxiety ) มี 3 รูปแบบดังนี้คือ
ความวิตกกังวลแบบเลื่อยลอย ( free floating from) ไม่รู้ว่าวิตกกังวลเรื่องอะไรกันแน่ มีลักษณะเลื่อนลอย สับสน เป็นความรู้สึกหวาดหลัวที่ไม่รู้แน่ชัด
ความวิตกกังวลในสิ่งที่ไม่น่าวิตก ( phobic form) เช่น กลัวที่แคบ กลัวมีดพับ วิตกกังวลกับการออกนอกบ้าน
ความวิตกกังวลอย่างรุนแรง (panic form) วิตกกังวลอย่างร้ายแรงจนถึงขั้นฆ่าตัวตาย หรือประกอบอาชญากรรม
ค. ความวิตกกังวลเกี่ยวกับศีลธรรมจรรยา (moral anxiety) เป็นความวิตกกังวลที่เนื่องจากการกระทำไม่สอดคล้องกับความรู้สึกผิดชอบ - ชั่วดี จึงเกิดความรู้สึกผิดขในจิตใจ ( guilty feeling)
6. เมื่อเกิดความวิตกกังวลจะเป็นสาเหตุให้การคิดและแก้ปัญหาของบุคคลหย่อนสมรรถภาพ ระบบ Ego ( reality principle) จะทำงานอย่างไม่ได้ผลบุคคลจะไปใช้กลวิธีป้องกันจิตใจตนเอง ( defense mechanism) ซึ่งเป็นการกระทำและการคิดโดยจิตไร้สำนึก เป็นการหลอกตนเอง เป็นการบิเบือนความจริง เป็นต้นว่าใช้กลวิธีดังต่อไปนี้
การอ้างเหตุผลเข้าข้างตนเอง (rationalization)
เป็นการที่บุคคลอ้างเหตุผลขึ้นมา แต่ไม่ใช่เหตุผลที่ถูกต้อง เป็นเหตุผลที่หลอกตนเองและผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว เพื่อให้ตนเกิดความสบายใจ เช่น ใช้วิธีองุ่นเปรี้ยว(sour grape) อยากได้สิ่งใดแล้วไม่ได้ จะหลอกตนเองว่าสิ่งนั้นไม่ดี เช่น ใจจริงอยากดำรงตำแหน่งผู้บริหารแล้วไม่ได้ดี เพราะจะทำให้เป็นโรคประสาทได้ง่าย หรือวิธีมะนาวหวาน (sweet lemon) ปลอบใจตนเอง คือสิ่งมีเป็นสิ่งไม่ดี แต่จะหลอกตนเองว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี เช่นเป็นคนขี้ลืมก็จะอ้างเหตุผลว่าดีแล้วที่ขี้ลืมจะได้ไม่มีเรื่องกังวลใจมาก
การปฎิเสธความจริง(denial of reality)
เมื่อความจริงเป็นสิ่งที่ไม่น่าชื่นชมหรือก่อให้เกิดความเจ็บปวดใจก็จะปฎิเสธความจริงนั้นเช่น พ่อแม่ที่มีลูกปัญญาอ่อนแม้แพทย์จะยืนยัน พ่อก็จะยืนกรานว่าลูกไม่ใช่เด็กปัญญาอ่อน หรือตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าสามีนอกใจแต่ภรรยาแต่ภรรยาก็ปฎิเสธเพื่อปลอบใจตนเองว่าไม่เป็นจริง
การเพ้อฝัน(fantasy)
เป็นการเพ้อฝันเพื่อให้ตนเองสบายใจ เช่น เพ้อฝันว่าตนเองเป็นผู้ชนะหรือประสบความสำเร็จ(conquering hero) หรือเพ้อฝันว่าตนเองเป็นวีรบุรุษหรือวีรสตรีที่ประสบความผิดหวัง(suffering hero)แต่ในที่สุดก็มีผู้เห็นใจ
การแยกตัวเองออกต่างหาก(withdrawal)
เมื่อไม่ประสบความสำเร็จจะแยกตัวออก เช่น บางคนไม่ประสบความสำเร็จในการเข้าสังคมจะแยกตัวออกห่าง ไม่พูดคุยสังสรรค์กับผู้ใด
การมีพฤติกรรมถดถ้อย(regression)
เป็นการถดถ้อยไปมีพฤติกรรมเหมือนเด็ก เช่น ถูกแม่ดุ ทำงอน ปิด ประตูขังตัวเอง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ตนเคยทำเทื่อเป็นเด็กแล้วมีผู้ปลอบโยน
การระบายความรู้สึกกับผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง(displacement)
เป็นวิธีการที่บุคคลสร้างสถานการณ์ที่ก็ไม่ให้เกิดความรู้สึกลำบากใจหรือตึงเครียดมาแทนสถานการณ์ที่ตึงเครียด เช่นโดนหัวหน้าดุ โต้ตอบไม่ได้ หันมาดุลูกน้องแทน ลูกน้องจะมีสภาพเหมือนแพะรับบาป
การโยนความผิด(projection)
การโยนความผิด เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าตนไม่ได้รับการยอมรับหมดไป เช่น ได้คะแนนไม่ดี จึงโทษอาจารย์ว่าสอนไม่ดีหรือออกข้อสอบกำกวมเป็นเหตุให้เขาเสียคะแนน
การใช้กลวิธีป้องกันจิตใจตนเองเป็นการลดความเครียดชั่วคราวแต่ไม่ใช้หนทางแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไม่ได้แก้ที่สาเหตุของปัญหา การใช้กลวิธีป้องกันจิตใจของตนเองจะทำให้บุคคลบิดเบือนความจริง ซึ่งถ้าใช้บ่อยๆจะเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
7. การให้บริการปรึกษาเป็นการช่วยให้ผู้รับบริการแก้ปัญหาหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไม่ใช่การอบรมสั่งสอน
8.การศึกษาประวัติของผู้รับบริการ จะทำให้เข้าใจพฤติกรรมในปัจจุบันและคาดคะเนพฤติกรรมในอนาคตของเขาได้
จุดมุ่งหมายของการให้บริการปรึกษาแบบจิตวิเคราะห์
1.การให้บริการปรึกษาแบบนี้จะเป็นการดึงแรงจูงใจในระดับจิตไร้สำนึกมาสู่ระดับจิตสำนึก เพื่อให้เข้าใจสาเหตุพฤติกรรมของตนอันจะทำให้ผู้รับบริการสามารถเปลี่ยนโครงสร้างบุคลิกภาพของเขาได้(restructuring personality)โดยมีหลักการว่าความขัดแย้งในจิตใจ ความวิตดกังวล และกลวิธีป้องกันจิตใจตนเอง จะเป็นอุปสรรคต่อความคิดอ่านของผู้รับบริการและทำให้ไม่สามารถเข้าใจตนเองและไม่สามารถติดต่อกับบุคคลอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเข้าใจความขัดแย้งในจิตใจ ความวิตกกังวล และกลวิธีป้องกันตนเองจะช่วยให้ผู้บริการมองสภาพการณ์ต่างๆในชีวิตด้วยสายตาใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่พฤติกรรมใหม่
2.การลดความวิตกกังวลของผู้รับบริการเพื่อให้ระบบเหตุผลในการพิจารณาสิ่งต่างๆตามข้อเท็จจริง(ego)เข้มแข็งขึ้นทำงานได้โดยมีประสิทธิภาพโดยใช้กระบวนการคิดอย่างมีเหตุผล(rational process) ลดการใช้กลวิธีป้องกันจิตใจตนเองลง
ถ้าผู้รับบริการลดความรู้สึกถูกคุกคามด้านจิตใจลง พลังงานที่ใช้ในกลวิธีป้องกันจิตใจจะลดลง จะได้นำพลังงานไปใช้ในการคิดอย่างมีเหตุผล ตัวอย่างเช่น ถ้าการให้บริการปรึกษาได้ผล ผู้ให้บริการปรึกษาจะเข้าใจว่าวันนี้ที่เขาหงุดหงิดเพราะได้ต่อสู้กับปัญหาในการทำงานมามาก หรือที่เขาตีลูกโดยปราศจากเหตุผลเพราะเขาต้องต่อสู้กับปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าเขาอยู่
3. ทำให้สุภาพจิตของผู้รับบริการดีขึ้น จุดประสงค์ของการให้บริการปรึกษาคือ การช่วยบุคคลในการแก้ปัญหา และเกิดการสบายใจขึ้นหลังจากนั้น ช่วยให้เขามีความสุข มีชีวิตชีวา ส่งผลต่อมนุษยสัมพันธ์ของเขาด้วย
4. การให้บริการปรึกษาจะช่วยให้ผู้รับบริการตระหนักและพิจารณาสิ่งต่างๆอย่างกว้างขว้างขึ้น
การนำจิตวิเคราะห์ไปใช้ในการให้บริการปรึกษา
เนื่องจากฟรอยได้ใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ในการบำบัดผู้ป่วยรักษาผู้ป่วยโรคจิตโรคประสาท และต่อมาผู้ให้บริการปรึกษาได้นำแนวความคิดและกลวิธีของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ไปใช้ในการให้บริการปรึกษาดังนี้คือ
1. นำทฤษฎีไปใช้เพื่อทำการเข้าใจโครงสร้างของพฤติกรรมและบุคลิกภาพ เช่น เด็กที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง อาจมีความรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจอยู่ในระดับจิตไร้สำนึก การสืบประวัติจะทำให้ตีความหมายพฤติกรรมของเด็กผู้นั้นได้แม่นขึ้นซึ่งผู้ให้บริการปรึกษาควรอธิบายสิ่งเหล่านี้แก่ครูและผู้ปกครองของเด็ก
2. นำกลวิธีของจิตวิเคราะห์ไปใช้ในให้บริการปรึกษา โดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้รับบริการลดความวิตกกังวล ระบบเหตุผลในการพิจารณาสิ่งต่างๆตามข้อเท็จจริงจะได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้กลวิธีป้องกันจิตใจตนเอง กลวิธีต่างๆที่ใช้มีดังนี้
การแสดงมโนภาพโดยเสรี ( Free Imagery)
ผู้ให้บริการปรึกษาจะให้ผู้รับบริการอยู่ในอิริยาบถที่ผ่อนคลาย และเล่าความนึกคิดออกมาอย่างเสรี ซึ่งจะช่วยให้เขาได้ระบายอารมณ์ ได้ผ่อนคลาย ให้เขาได้เล่าทุกอย่างที่อยู่ในความคิด ความรู้สึกของเขา ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวด ไร้สาระหรือไร้เหตุผลก็ตาม ซึ่งสัมธภาพระหว่างผู้ให้บริการปรึกษากับผู้รับบริการจะต้องดีอย่างยิ่ง จนทำให้ผู้รับบริการไว้วางใจที่จะเล่าสิ่งต่างๆที่อยู่ในจิตใจเขาออกมา ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในจิตใจหรือแรงจูงใจในระดับจิตไร้สำนึกต่างๆที่ซุกซ่อนไว้ เป็นการดึงแรงจูงใจในระดับจิตไร้สำนึกที่ถูกเก็บกดออกมาให้ปรากฏ
การตีความหมาย ( Interpretation)
ผู้ให้ริการปรึกษาจะตีความหมายคำพูด การคิดคำนึง ความรู้สึก และเรื่องเราของผูรับบริการเป็นต้นว่า ในระหว่างการแสดงมโนภาพโดยเสรี ผู้ให้บริการปรึกษาจะพิจารณาว่าผู้รับบริการพูดอะไรซ้ำๆบ้าง หรือใช้กลวิธีป้องกันจิตใจตนเองแบบใด เพื่อจะได้นำไปพิจารณาหาสาเหตุของปัญหา
นอกจากนั้นการตีความหมายยังรวมถึงการที่ผู้ให้บริการปรึกษาชักชวนให้ผู้รับบริการได้รวบรวมความคิด ความรู้สึก เพื่อตีความหมายสภาพการต่างๆด้วยตนเอง
ตัวอย่าง
ผู้ให้บริการปรึกษา “คุณพูดว่าผมเหมือนตำรวจที่เฝ้าแต่ตรวจสอบคุณเมื่อ 1 นาทีก่อนหน้านี้คุณเล่าว่าคุณพ่อโกรธคุณ พ่อจ้องหน้าคุณโดยไม่พูดอะไรสักคำ เมื่อคุณฉวยเอารถคุณพ่อไปขับโดยไม่ขออนุญาต คุณจะพูดถึงความรู้สึกของคุณที่มีต่อผมและคุณพ่อของคุณได้ไหมครับ”
การวิเคราะห์ความฝัน ( Dream Analysis)
ผู้รับบริการอาจเล่าความฝันให้ผู้รับบริการปรึกษาฟัง แล้วผู้ให้บริการปรึกษาจะวิเคราะห์ความฝันของผู้รับบริการ โดยยึดว่าหลักของความฝันเป็นสัญลัษณ์ ( Symbols) ของแรงจงใจในระดับจิตไร้สำนึก อาจเป็นความปรารถนา ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ เช่น ความกลัว ความกังวล แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องตีความหมายสัญลักษณ์นั้นไปในลักษณะตายตัว เช่น งูอาจเป็นสัญลักษณ์ทางเพศ หรืออาจเป็นสัญลัษณ์ของกาเที่ยวป่าก็ได้
ตัวอย่างวิเคราะห์ความฝัน
นิสิตหญิงปีที่ 1 หลังจากสอบกลางภาค เธอมีผลสอบต่ำมาก ซึ่งเธอเกรงว่าจะดึงเกรดสูงขึ้นไม่ได้ เธอเล่าว่าระยะนี้เธอฝันร้ายอยู่เรื่อย เช่น ฝันว่าเข้าไปในป่าพบสิงห์สาราสัตว์ที่น่ากลัว คอยขบกัดเธอ ตื่นขึ้นมาด้วยเนื้อตัวสั่นเทา มีเหงื่อออกทั่วตัว
ผู้ให้บริการปรึกษาวิเคราะห์ความฝันของเธอว่า สัตว์ที่ดุร้ายทั้งหลายที่คอยขบกัดเธอในความฝัน เปรียบเหมือนข้อสอบยากๆทำให้เธอกลัวมาก ซึ่งการฝันเช่น นั้นเพราะเธอกังวลว่าจะสอบไม่ผ่าน จะไม่สามารถดึงเกรดให้สูงขึ้นมา เธอกังวลว่าจะถูกให้ออกจากมหาวิทยาลัย ซึ่งยอมรับไม่ได้
การวิเคราะห์การถ่ายทอดอารมณ์ ( Analysis of transference)
การที่เรารู้สึกไม่ถูกชะตากับใครในทันทีทันใดที่เรารู้จักเขา อาจเป็นการที่เราถ่ายทอดความรู้สึกไม่ชอบผู้ใดในอดีตมาสู่ผู้นั้น การวิเคราะห์การถ่ายทอดอารมณ์เป็นการดึงแรงจูงใจในระดับจิตไร้สำนึกออกมา
ตัวอย่างที่ 1
“ตอนนี้เหมือนคุณรู้สึกไม่พอใจที่พูดคุยกับผม คุณอาจเกิดความรู้สึกที่ไม่อยากพูดกับผม เป็นเพราะผมไปพูดสะกิดถึงผู้หนึ่งผู้ใดในอดีตของคุณใช่ไหม”
ตัวอย่างที่ 2
สมมติว่าผู้รับบริการมีปัญหาเกี่ยวกับสัมธภาพในครอบครัว เขาแค้นเคืองน้องของเขามาก ในระหว่างการสนทนา ผู้รับบริการอาจหันไปตวาดผู้ให้บริการปรึกษาว่า “อย่ามายุ่ง” เป็นการถ่ายทอดอารมณ์ที่ผู้รับบริการมีในอดีตกับน้อง ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นการช่วยดึงแรงจูงใจในระดับจิตสำนึก ช่วยให้ผ่อนคลายความเครียดจากการเก็บกด
การใช้ไหวพริบจับประเด็นคำพูดและสิ่งที่พลั้งปาก (Use of paraphrases and Wit )
ผู้ให้บริการปรึกษาจะสังเกตผู้ให้บริการพลั้งปากออกมา เป็นเครื่องมือที่จะทำความเข้าใจแรงจูงใจในระดับจิตไร้สำนึก เช่น พลั้งปากออกมาว่า เกลียดแม่แล้วรีบแก้ว่าไม่ใช่
ผู้ให้บริการปรึกษาจะต้องใช้ไหวพริบ สรุปคำพูด จับประเด็น แล้ววิเคราะห์สาเหตุของปัญหา
3. ในการดำเนินการให้บริการปรึกษาแบบจิตวิเคราะห์ ครั้งแรกผู้ให้บริการจะช่วยให้ผู้บริการเกิดความมั่นคงทางด้านจิตใจว่า ผู้ให้บริการปรึกษาพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ ให้ความอบอุ่น และควรชี้แจงให้ผู้รับบริการว่าทราบว่าการแก้ปัญหาของผู้รับบริการไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นสิ่งที่ทั้งผู้ให้บริการปรึกษาและผู้รับบริการจะต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่
ผู้รับบริการมักจะรู้สึกว่าตนผิดปกติ และต้องการหลุดพ้นจากความวิตกกังวลที่รบกวนจิตใจอยู่ ซึ่งผู้ให้บริการปรึกษาควรแสดงให้ผู้รับบริการรู้สึกว่าปัญหาของเขาไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด หรือเหลือความสามารถที่จะแก้ได้
ผู้ให้บริการปรึกษาจะสนับสนุนให้ผู้รับบริการเปิดเผยอย่างเต็มที่ จะเก็บความลับ จริงใจ และสนใจที่จะช่วยเหลือผู้รับบริการอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ทำไปตามหน้าที่เท่านั้น ผู้ให้บริการปรึกษาจะพยายามช่วยให้ผู้รับบริการมั่นใจว่าตนสามารถช่วยผู้รับบริการได้ ถ้าผู้รับบริการให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
4. การสิ้นสุดการให้บริการปรึกษา จะกระทำต่อเมื่อผู้ให้บริการปรึกษาสังเกตว่าผู้รับบริการเลิกบ่นพูดถึงประสบการณ์ในอดีต และมีสัมธภาพแบบปกติกับผู้ให้บริการปรึกษาได้แล้ว คือ พูดจามีเหตุผล ใช้สติปัญญาใคร่ครวญเหตุการณ์ต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างการผู้ให้บริการปรึกษาจิตแบบวิเคราะห์
ผู้รับบริการเป็นนักศึกษาอายุ 19 ปี มาหาให้ผู้บริการปรึกษาเอง โดยเล่าให้ฟังว่าเขาไม่มีความสุขมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งคู่ แม่เป็นแม่บ้าน พ่อเป็นผู้จัดการบริษัท ผู้รับบริการมีน้องสาวคนหนึ่ง ซึ่งอายุอ่อนกว่าเขา 3 ปี ผู้รับบริการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ห่างจากภูมิลำเนาเดิม เขามีโอกาสกลับบ้านตอนปิดภาคเท่านั้น ผู้รับบริการบอกว่าเขารู้สึกห่างเหินจากพ่อ
ที่ตัดตอนมาเป็นตัวอย่างนี้ เป็นระยะที่ผู้รับบริการไม่ค่อยพูดหรือแสดงความรู้สึก ดังนั้นผู้ให้บริการปรึกษาจึงใช้กลวิธีให้ผู้รับบริการแสดงมโนภาพเสรี ( free imagery) เพื่อดึงแรงจูงใจในระดับจิตไร้สำนึกออกมา แล้วนำมาอภิปรายกัน ซึ่งจะมีการตีความหมายด้วย จากการตีความหมายของผู้ให้บริการปรึกษาวินิจฉัยว่าผู้รับบริการต้องการความรักจากพ่อ และต้องการให้พ่อเป็นแบบอย่าง
ตัวอย่าง
ผู้ให้บริการปรึกษา : ให้นั่งพิงอย่างสบาย หลับตา แล้วเล่าว่านึกถึงหรือเห็นอะไรบ้าง ขอให้เล่าให้ ฟังให้หมด แม้ว่าจะเป็นเรื่องไร้สาระก็ตาม
ผู้รับบริการ : ผมกับแม่เดินจูงมือกันเข้าไปในป่า ซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ มืดครึ้ม มีแสง อยู่นิดเดียว ผมอยากสำรวจทางอีกแต่ผมก็กลัว และรู้ว่าแม่ก็คงไม่ไปกับผม ในที่สุดผมหลุดมือไปจากแม่และท่องเทียวไปในป่าอย่างลำพัง เป็นทาง แคบๆและในที่สุดก็หลงทาง ผมรู้สึกกลัวและตกลงไปในโครนดูด รู้สึกก้าว เท้าไม่ออก (เงียบสักครู่)
ผู้ให้บริการปรึกษา : ถ้าคุณต้องการความช่วยเหลือจะมีคนมาช่วย(ผู้ให้บริการปรึกษาขัดจังหวะ เพื่อไม่ให้ผู้รับบริการเกิดความเครียดมากเกินไปและเพื่อให้การแสดงมโน ภาพได้ดำเนินต่อไป)
ผู้รับริการ : มีผู้ชายคนหนึ่งรูปร่างสูงใหญ่เดินมาที่ผมเงียบๆแล้วดึงผมขึ้นจากหลุม เมื่อ ผมขึ้นมาจากหลุมแล้วผมปีนขึ้นไปบนต้นไม้ แล้วปอกเปลือกไม้ตามกิ่งออก ชายคนนั้นนั่งรออยู่ข้างล่าง ในที่สุดผมก็ลงมาจากต้นไม้ มันเงียบมากไม่มี เสียงเลย ผมมีความรู้สึกเหมือนพูดไม่ออกรู้สึกแปลกๆ ผมกับชายคนนั้น ไม่ได้พูดอะไรกันเลย
ผู้ให้บริการปรึกษา : หลับตาให้สนิท และทำตัวทำใจให้สบายอาจารย์จะให้ดินสอกับปากกาคุณ (ผู้ให้บริการปรึกษาคิดว่าจะต้องค้นพบความรู้สึกต่อต้านของผู้รับบริการและ เข้าใจความรู้สึกของผู้รับบริการที่อยู่เบื้องหลังความไม่สามารถในการสื่อ ความหมายของเขา )
ผู้รับบริการ : ครับ ผมรับดินสอกับกระดาษแล้ว และยื่นส่งให้ชายคนนั้น เขาก้มลงเขียน ข้อความลงไปแล้วส่งให้ผมแต่กระดาษนั้นพับพับอยู่ทำให้ผมไม่เห็นข้อความ นั้น ผมอยากลืมตา ผมรู้สึกอยากวิ่งหนี
ผู้ให้บริการปรึกษา : อาจารย์เข้าใจ หลับตาลง คุณเห็นกระดาษนั้นหรือยัง
ผู้รับบริการ : ครับ แต่มันยังคงพับอยู่ มันอยู่ในมือผม กระดาษนั้นยังขาวสะอาด
ผู้ให้บริการปรึกษา : ลองเปิดอ่านดูซิ
ผู้รับบริการ : มีข้อความว่า “ฉันต้องการคุณ” (เงียบไปนาน) ผมรู้สึกอยากร้องตะโกน ออกมาอยากร้องไห้.....
ผู้ให้บริการปรึกษา : ผมเข้าใจว่าคุณรู้สึกโกรธและสะเทือนใจแค่ไหนต่อจากนั้นก็ดำเนินการให้ การปรึกษาในลักษณะการสนทนาตามปกติ
ผู้ให้บริการปรึกษา : เอาละ
ผู้รับบริการ : เรามาตรงประเด็นแล้วใช่ไหมครับ
ผู้ให้บริการปรึกษา : ใช่ครับ ดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้น
ผู้รับบริการ : อาจารย์คงรู้แล้วใช่ไหมว่ามันหมายความว่าอย่างไร
ผู้ให้บริการปรึกษา : ไม่ถึงขั้นนั้นหรอก อาจารย์คิดว่าคุณมีความรู้สึกเครียดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คุณมีความรู้สึกทั้งโกรธและสะเทือนใจ
ผู้รับบริการ : ผมคิดว่าถูกแล้ว แต่ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร
ผู้ให้บริการปรึกษา : เป็นความรู้สึกที่คุณมีมานานแล้ว
ผู้รับบริการ : ครับ ( พยักหน้า)
ผู้ให้บริการปรึกษา : มีอะไรที่สำคัญกว่านั้นที่คุณยังไม่ได้บอกอาจารย์หรือเปล่า มันอาจจะยากสัก หน่อยที่จะบรรยายออกมา
ผู้รับบริการ : ครับ อาจารย์จำเรื่องที่ผมเล่าให้อาจารย์ฟังเกี่ยวชายคนหนึ่งที่นั่งรอผมอยู่ใต้ ต้นไม้ได้หรือเปล่า
ผู้ให้บริการปรึกษา : ครับ
ผู้รับบริการ : เขาเดินวนไปมารอบๆ
ผู้ให้บริการปรึกษา : เหมือนกับว่าเขาหงุดหงิด หรือทนอะไรไม่ได้ใช่ไหม
ผู้รับบริการ : ไม่ใช่ แต่เป็นกิริยาที่เขาทำเสมอ
ผู้ให้บริการปรึกษา : ผมเข้าใจละ เล่าต่อไป
ผู้รับบริการ : เขาเดินวนเหมือนที่พ่อขอบทำ แต่ไม่ใช่เพราะหงุดหงิดหรือขุ่นเคือง มันก็ เหมือนที่อาจารย์ชอบทำ
ผู้ให้บริการปรึกษา : ผมไม่รู้ตัวมาก่อนว่าผมชอบเดินวนไปมาจนกระทั่งคุณบอก ตอนนี้มีสาม ประเด็นคือ ชายคนนั้นในจินตนาการ คุณพ่อของคุณ และผมมีอะไรเกี่ยว โยงระหว่างบุคคลทั้งสามบ้าง
ผู้รับบริการ : อาจารย์มีบางอย่างคล้ายพ่อของผม ไม่ใช่แค่เรื่องเดินวนไปมา ตอนที่ผมจะ ออกจากประตูแล้วอาจารย์ตบไหล่ผมจำได้ไหม
ผู้ให้บริการปรึกษา : ครับ
ผู้รับบริการ : ผมรู้สึกอยากให้อาจารย์โอบไหล่ผม อยากให้อาจารย์กอดผม ฟังดูเหมือน คนบ้าไหมครับ
ผู้ให้บริการปรึกษา : ไม่ใช่หรอกครับ ไม่ใช่แน่ๆคุณจะรู้สึกพอใจถ้าอาจารย์ทำอย่างนั้นกับคุณใช่ ไหม เหมือนกับที่พ่อเคยทำกับคุณใช่ไหม
ผู้รับบริการ : ผมอยากให้พ่อทำบ่อยกว่านั้น ผมรู้สึกว่ายังมีอีกหลายอย่างที่ผมกับพ่อห่าง กัน หรือมีความรู้สึกที่บอกไม่ถูก
ผู้ให้บริการปรึกษา : มีความรู้สึกเหมือนในจินตนาการที่เล่าให้ฟังใช่ไหม
ผู้รับบริการ : ครับ ผมรู้สึกอยู่เรื่อยว่าถ้าพ่อจะอยู่ใกล้ชิดกับผมเหมือนที่ผมต้องการคงจะ ทำให้ผมมีความสุข แต่พ่อไม่เคยทำ หรือไม่มีท่าที่จะทำเช่นนั้น (ถอนหายใจ ลึกๆ)
ผู้ให้บริการปรึกษา : คุณต้องการได้รับความรักจากพ่อเหมือที่คุณรักพ่อ แต่ไม่ได้รับสิ่งนี้ นี่เป็น เหตุผลที่คุณเห็นข้อความในกระดาษจากจินคนาการว่า “ ผมต้องการคุณ”
ผู้รับริการ : ใช่ครับ ผมอยากให้พ่อแสดงความรักต่อผม
ผู้ให้บริการปรึกษา : อาจารย์เข้าใจ
หมายเหตุ จากตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นได้ว่าผู้ให้บริการปรึกษาช่วยให้ผู้รับบริการได้เข้าใจพฤติกรรมของตนเอง และในขั้นตอนต่อไปผู้ให้บริการปรึกษาได้ส่งเสริมให้ผู้รับบริการมีความเป็นตัวของตัวเอง มีค่านิยมของตนเอง ไม่ต้องอิงอยู่กับพ่อแม่เหมือนเด็กเล็กๆอีกต่อไป
คำวิจารย์การให้บริการปรึกษาแบบจิตวิเคราะห์
ได้มีผู้วิจารย์การให้บริการปรึกษาแบบวิเคราะห์ไว้ดังนี้คือ
ข้อดี
1. จิตวิเคราะห์เป็นทฤษฎีแรกที่เสนอแนวคิดว่าพฤติกรรมของมนุษย์อาจได้รับการกระตุ้นจากแรงผลักดันในระดับจิตไร้สำนึกซึ่งเขาไม่รู้ตัว
2. แนวคิดของจิตเคราะห์เรื่องประสบการณ์ในวัยเด็กนั้นมีผู้นำไปใช้มากและช่วยกระตุ้นให้มีผู้ทำวิจัยในเรื่องนี้ต่อไป
3. จิตวิเคราะห์ได้อธิบายถึงสาเหตุของการเกิดความกังวลอย่างละเอียดและอธิบายถึงกระบวนการให้ความช่วยเหลือด้วยกลวิธีต่างๆ
4. จิตวิเคราะห์เน้นว่า การบำบัดรักษาไม่ใช่การอบรมสั่งสอน
5. จิตวิเคราะห์เป็นวิธีการที่มีการเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีกับเทคนิคหรือกลวิธีเป็นอย่างมาก
6. กลวิธีทางจิตวิเคราะห์เหมาะสำหรับบุคคลที่มีปัญหาทางอารมณ์ลึกซึ้ง จะต้องมีการปรับโครงสร้างของบุคลิกภาพใหม่
7. การให้การปรึกษาแบบจิตวิเคราะห์เป็นทฤษฎีที่อธิบายกระบวนการทางจิตอย่างละเอียดลออ ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายแขนง เช่น วรรณคดี ศิลปะ ดนตรี มนุษยวิทยาและสังคมวิทยา
ข้อจำกัด
1. จิตวิเคราะห์มองมนุษย์ในแง่ร้าย โดยคิดว่าธรรมชาติของมนุษย์เป็นสิ่งที่น่าเกลียด มนุษย์เป็นทาสแห่งความต้องการของตนเอง
2. จิตวิเคราะห์เน้นประสบการณ์ในวัยเด็กมากเกินไป ซึ่งทำให้ดูเหมือนดูถูกว่ามนุษย์ไม่มีความสามารถ ไม่มีความรับผิดชอบต่อชีวิตตนเอง ไม่มีศักดิ์ศรี และไม่มีเสรีภาพ ต้องปล่อยให้ชีวิตเป็นไปตามประสบการณ์ที่ได้รับมา หรือสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลมากเกินกว่าที่จะควบคุมวิถีชีวิตของตนเองได้
3. จิตวิเคราะห์ไม่ได้ให้เกียรติในความมีเหตุผล หรือการใช้วิจารณญาณของมนุษย์
สรุปความ
ทฤษฎีการให้บริการปรึกษาแบบจิตวิเคราะห์ เน้นการช่วยบุคคลที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์อันเนื่องมาจากประสบการณ์ จุดประสงค์คือ การช่วยให้ผู้รับบริการเข้าใจพฤติกรรมของตนเองทั้งในระดับจิตสำนึกและไร้สำนึก เพื่อจะได้หาทางแก้ปัญหาหรือปรับปรุงตนเอง โดยยึดหลักว่ามนุษย์ไม่จำเป็นต้องตกเป็นทาสของประสบการณ์ในอดีตต่อไป ผู้ให้บริการปรึกษาจะช่วยให้ผู้รับบริการได้ใช้ศักยภาพและแหล่งความช่วยเหลือจากสิ่งแวดล้อมในการปรับตัวและเพิ่มประสิทธิภาพของตนเอง
ทฤษฎีการให้บริการปรึกษาแบบนี้ได้ใช้หลักการของจิตวิเคราะห์ โดยเฉพาะหลักการที่ว่า โดยพื้นฐานแล้วมนุษย์มีแรงผลักดันที่จะแสวงหาความพึงพอใจสู่ตนเอง ซึ่งมนุษย์จะต้องปรับตัวให้เกิดความสมดุลระหว่างความต้องการกับสภาพความเป็นจริงและศีลธรรมจรรยาของสังคม ผู้ให้บริการปรึกษามีบทบาทเป็นผู้เชี่ยวชาญในการช่วยให้บุคคลไปสู่ภาวะสมดุลย์และช่วยให้ชนะความอ่อนแอหรือความต้องการของตน ช่วยให้เขาคิดอย่างมีเหตุผล และสำรวจได้ว่า แจงจูงใจในระดับจิตไร้สำนึกของตนคืออะไร คือช่วยให้ผู้รับบริการทราบถึงสาเหตุแห่งการปรับตัวไม่ได้ของเขาซึ่งจะก่อให้เกิดความเข้าใจตนเอง และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงความคิด ผู้ให้บริการปรึกษาจะเปิดโอกาสให้ผู้รับบริการได้ระบายความรู้สึกเก็บกดในวัยเด็กออกมา และแทนที่ด้วยความคิดอย่างมีเหตุผลตามระบบแห่งความเป็นจริง
ผู้ให้บริการปรึกษาแบบจิตวิเคราะห์ จะปรับกระบวนการให้เหมาะสมกับผู้รับบริการแต่ละคน มีทั้งกลวิธีที่แสดงถึงการยอมรับ การเข้าใจความรู้สึกและเนื้อหาบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นมิตร ตลอดจนถึงกลวิธีดึงแรงจูงใจที่อยู่ในระดับจิตไร้สำนึกของผู้รับบริการออกมาให้ปรากฏ
ข้าพเจ้ามีความคิดว่า ผู้ที่ไม่ได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะในการใช้กลวิธีของจิตวิเคราะห์อาจจะมีข้อจำกัดในการนำกลวิธีเหล่านั้นไปใช้ในการให้บริการปรึกษา แต่หลักการของทฤษฎีจิตวิเคราะห์มีประโยชน์มากในการช่วยให้เข้าใจโครงสร้างของพฤติกรรมและบุคลิกภาพของผู้รับบริการ ทฤษฎีนี้เป็นต้นฉบับในการอธิบายการใช้กลวิธีการป้องกันจิตใจตนเองของบุคคล และพฤติกรรมจิตไร้สำนึก นอกจากนั้นการทำความเข้าใจอดีตของผู้รับบริการจะช่วยให้เข้าวิถีชีวิตของเขา เพื่อจะได้หาทางช่วยผู้รับบริการให้พัฒนาขึ้นด้วยวิธีการอันเหมาะสมต่อไปนี้
นาง ชฎาพร อินจันทร์ ปฐมวัย หมู่ 1 รุ่น 28 รหัส 51291860109
ตอบลบตามทฤษฎีของฟรอยด์ มนุษย์แสวงหาความพอใจอยู่ในระบบใด ?
ทฤษฎีนี้เน้นให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าใจในปัญหา ไม่วิตกกังวล และไม่ท้อแท้ในชีวิต เปิดโอกาสให้ผู้รับคำปรึกษาระบายความในใจ
ตอบลบนางวีนา ผะกาทอง รหัส 51291860142
ฟรอยได้แบ่งความวิตกกังวลที่เป็นต้นเหตุของการเเก้ปัญหาไว้กี่ประเภท อะไรบ้าง
ตอบลบเเววมณี แก้วหอม รหัสนักศึกษา 49291860259